อิสราเอลพบ "รอยประทับตรา" อายุ 7,000 ปี เผยแล้วใช้ทำอะไร
มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเล็ม (HUJI) นักโบราณคดีของอิสราเอล ค้นพบรอยประทับตรา อายุ 7,000 ปี บนชิ้นส่วนดินเหนียวชิ้นหนึ่ง ถูกใช้ในยุคประวัติศาสตร์ มีขนาดกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตร
(10 พ.ย.) มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเล็ม (HUJI) เปิดเผยว่าคณะนักโบราณคดีของอิสราเอลค้นพบรอยประทับตรา อายุ 7,000 ปี บนชิ้นส่วนดินเหนียวชิ้นหนึ่ง ซึ่งคาดว่าใช้สำหรับการค้าและการคุ้มครองทรัพย์สินในอดีตกาล
ชิ้นส่วนดินเหนียวดังกล่าวมีรอยประทับด้วยตรารูปทรงเรขาคณิตที่ต่างกัน 2 แบบ ถูกค้นพบในแหล่งโบราณคดีเทลซาฟ (Tel Tsaf) หมู่บ้านยุคก่อนประวัติศาสตร์ในหุบเขาเบตชิอันทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิสราเอล
ตราประทับหรือที่เรียกกันว่า “บุลลา” (bulla) ถูกใช้ในยุคประวัติศาสตร์เพื่อประทับตราและลงชื่อในจดหมาย รวมถึงเพื่อป้องกันบุคคลอื่นเปิดอ่านเนื้อหาข้างใน
มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่ารอยประทับที่พบในเทลซาฟเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการใช้ตราประทับผนึกรอยการส่งสินค้าหรือการปิดยุ้งฉาง พร้อมอธิบายว่าเมื่อประตูยุ้งฉางถูกเปิดออก ชิ้นส่วนรอยประทับที่ใช้ปิดจะแตกกระจาย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีใครบางคนเปิดมัน
ชิ้นส่วนรอยประทับที่พบ มีขนาดกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตร อยู่ในสภาพสมบูรณ์เนื่องจากภูมิอากาศที่แห้งของหุบเขาเบตชิอัน โดยคณะนักโบราณคดีสันนิษฐานว่ารอยประทับที่แตกต่างกัน 2 แบบ บ่งชี้ถึงรูปแบบของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมโดยบุคคล 2 คน
อนึ่ง การค้นพบทางโบราณคดีอื่นๆ ที่เทลซาฟเปิดเผยหลักฐานที่ชี้ว่าประชาชนในพื้นที่มีการติดต่อกับประชากรกลุ่มอื่นที่อยู่ห่างไกลจากภูมิภาคในสมัยโบราณ ซึ่งรวมถึงผู้คนจากเมโสโปเตเมีย ตุรกี อียิปต์ และคอเคเซีย
พื้นที่เทลซาฟยังให้เบาะแสว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของประชาชนฐานะร่ำรวยที่สามารถสร้างคลังเก็บส่วนผสมและวัสดุขนาดใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ถึงพัฒนาการทางสังคมขั้นสูง และรอยประทับโบราณชิ้นนี้ชี้ว่าเทลซาฟเคยเป็นสถานที่สำคัญในภูมิภาคที่รับใช้บรรดาชุมชนท้องถิ่นและประชาชนที่สัญจรผ่าน
ขอบคุณ ซินหัวไทย