ศบค. ไฟเขียว แจกเงินเยียวยาผู้ประกันตน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม
ครม. มีมติอนุมัติการจ่าย เงินเยียวยาประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 ขยายจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด
วันนี้ (3 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) สาระสำคัญจะปรับปรุงมาตรการการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิดที่เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 13 เป็น 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง มีผลตั้งแต่วันนี้ (3 ส.ค.)
โดยสนับสนุนเงินเหลือผู้ได้รับผลกระทบจะยังคงเป็นไปตามระบบเดิมที่วางไว้คือการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มอาชีพ ธุรกิจ ในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด แบ่งเป็นการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม ม. 33 ม.39 และม.40 ซึ่งในส่วนที่เป็นแรงงานนอกระบบกำหนดให้ลงทะเบียนเป็นแรงงานตามระบบประกันสังคมเพื่อรับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลได้วางไว้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งได้ขยายวงเงินจากเดิม 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือขยายระยะเวลาในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้มที่ประกาศไปครั้งแรกเป็น 2 เดือนคือในเดือน ก.ค. - ส.ค. และใน 16 จังหวัดให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน ในเดือน ส.ค. นอกจากนี้ ยังขยายการให้ความช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะรับจ้างที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งลงทะเบียนประกันสังคมไม่ได้ให้ได้รับความช่วยเหลือด้วย