สปสช. เผยยอดจ่ายเงินช่วยเหลือ ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด
สปสช.เผยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมเป็นเงินกว่า 230 ล้านบาท
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,065 รายและยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 287 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,626 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,152 ราย เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 230,798,800 บาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 3,121 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 41 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 464 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่าสปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 1,045 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 664 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 556 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 25,685,500 บาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 4 สระบุรี 22,708,500 บาท และ สปสช.เขต 6 ระยอง จ่ายเงินแล้ว 20,208,800 บาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด
"หมอยง" เปิดบทเรียนการฉีดวัคซีนโควิด ชิลี-สหรัฐอเมริกา
เปิดยอดนักเรียนสังกัด กทม. ยินยอมฉีดวัคซีนไฟเซอร์
ศบค.เห็นชอบ ลดวันกักตัวผู้เดินทางเข้าไทยที่มีพาสปอร์ตวัคซีนเหลือ 7 วัน
ด้าน นางสมคิด ปุณะศิริ ชาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในผู้สูญเสียพี่สาวหลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เปิดเผยว่า พี่สาวของตนอายุ 70 กว่าปี ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 และเสียชีวิตในวันที่ 13 ก.ค. 2564 ซึ่งหลังจากพี่สาวเสียชีวิตไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเยี่ยมแสดงความเสียใจและแนะนำให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทางญาติจึงยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 และได้รับการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยทาง สปสช.อนุมัติเต็มเพดานจ่ายที่ 4 แสนบาท
นางสมคิด กล่าวว่า กระบวนการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีข้อติดขัด ใช้เอกสารเพียงใบคำร้อง สำเนาบัตรประชาชนของพี่สาวและสามีในฐานะผู้รับเงินช่วยเหลือ และใบชันสูตรของแพทย์ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งต้องขอบคุณ สปสช. เพราะเงินนี้ใช้ช่วยเหลือคนได้ ตอนนี้ก็มอบให้พี่เขยทั้งหมดเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เนื่องจากทั้งพี่สาวและพี่เขยอายุ 70 กว่าปีแล้ว ไม่มีรายได้อะไร แม้แต่ตอนพี่สาวเสียชีวิตก็ไม่มีเงินกันเลย เงินจำนวนนี้ก็พอจะทำให้พี่เขยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของ สปสช.นั้น หลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews