คำแถลงเปิดประเทศ "ลุงตู่" มีนัยยะ สานต่อแผนอยู่ยาว 5 ปี
เจาะคำแถลงประกาศเปิดประเทศ "ลุงตู่" พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนส่งสัญญาณชัด สานต่อแผนอยู่ยาว 5 ปี
คำแถลงเปิดประเทศของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุน-คัดค้าน และคนเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข เช่น เปิดได้แต่ก็ควรเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก่อน แต่นัยของคำประกาศ ดูเสมือนส่งสัญญาณการเมืองชัดเจนว่า "ลุงตู่" สานแผนอยู่ยาว 5 ปี
สาระสำคัญของคำแถลงที่คนทั่วไปจับได้ คือ จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป จากผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส และมาจากประเทศความเสี่ยงโควิด-19ต่ำ จากนั้นจะเปิดสถานบริการ และอนุญาตให้จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. และเตรียมไฟเขียวให้เดินทางกลับบ้าน ตลอดจนเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่
หลังการแถลง สังคมสงสัยว่าประเทศไทยพร้อมขนาดนั้นแล้วหรือ แต่คำพูดของนายกฯ แสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจผู้ที่ต้องเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัสในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก ทั้งๆ ที่ปกติแล้วไม่ค่อยจะพูดถึงมากนัก รวมทั้งพูดถึงกลุ่มสถานบริการและสถานบันเทิงที่ถูกปิดยาว
เหตุนี้เองจึงมีการวิเคราะห์จากคนในรัฐบาลว่า คำประกาศเปิดประเทศเป็นการส่งสัญญาณ "ปูทางยุบสภา" เพราะเป็นการมุ่งหาคะแนนนิยมจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐบาล หรือด่าโจมตีรัฐบาลมาโดยตลอด กล่าวคือ
- ยอมตามกระแสของ "กลุ่มคนเสียงดัง" คือคนเดือดร้อน คนทีใช้โซเชียลมีเดีย และมีสื่อในมือที่เรียกร้องมาตลอดให้เปิดประเทศ
- เอาใจคนรุ่นใหม่ และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ตลอดจนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มองรัฐบาลในแง่ลบมาตลอด
- ไม่เลื่อนเปิดเทอม 1 พ.ย. เพื่อเอาใจเด็กๆ จะได้เลิกเรียนออนไลน์ และได้ไปเรียนที่สถานศึกษา
- เตรียมไฟเขียวให้กลับบ้าน ท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองช่วงปีใหม่ เอาใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด
-แจ้งด่วนที่สุด จากเขื่อนป่าสักฯ เตือน ปชช.เก็บของขึ้นที่สูง
-ไทม์ไลน์ ลงทะเบียน - รับเงินเยียวยา ผู้ขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง
-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปรับปรุงเงื่อนไขล่าสุด เปิดลงทะเบียนเช็ค
นายกฯพูดถึงขนาดนั้นว่า "รู้ว่าเสี่ยง แต่ประชาชนที่เดือดร้อนรอไม่ได้แล้ว ฉะนั้นต้องเดินหน้าต่อไป" คำพูดนี้ คือการหาเสียงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อึดอัดกับสถานการณ์โควิด ต้องถูกปิดประเทศ อยู่ภายใต้มาตรการเข้มข้น โดยเฉพาะมาตรการเคอร์ฟิวมาอย่างยาวนาน
นายกฯพูดถึงการให้คนกลับบ้าน เฉลิมฉลอง และรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายปีถึงปีใหม่ แสดงว่านายกฯมองเกมยาวว่าตัวเองจะอยู่ถึงปีหน้า และหาก "เกมเสี่ยง" นี้สำเร็จ นายกฯได้คะแนนนิยมกลับคืนมา ก็จะยุบสภาในปีหน้าเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งอีกสมัย แล้วกลับมาเป็นนายกฯอีก 4 ปี รวมเวลา 5 ปี ตามที่ประกาศขอเวลาเอาไว้ที่จ.นครศรีธรรมราช
ที่สำคัญการประกาศจองเก้าอี้นายกฯอีก 5 ปี ไม่ใช่คำพูดแบบ "กลอนพาไป" ตามที่ให้โฆษกรัฐบาลออกมาปฏิเสธ แต่เป็นการพูดท้าทายไปถึงกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ว่าถ้าจะไปด้วยกันต่อ ก็ต้องชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เสนอ 3 คนเผื่อเลือก หรือเผื่อหักกันภายหลังตามที่เป็นข่าว
อีกทั้ง ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนการเมืองที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นคนหนึ่ง แม้จะไม่มาก แต่ก็ยังดูดีกว่าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นทุกคน ดูได้จากนิด้าโพลสัปดาห์ล่าสุด ประเด็นคนไทยอยากให้ยุบสภาหรือไม่ แม้ร้อยละ 70 จะอยากให้ยุบสภา ทั้งยุบทันทีและยุบหลังแก้กฎหมายลูกเสร็จ
แต่ก็มีร้อยละ 22.12 ที่เชียร์ว่าไม่ต้องยุบสภา ให้ "ลุงตู่" อยู่ยาวไปเลยให้ครบเทอม 4 ปี กลุ่มนี้ต้องบอกว่าเป็นแฟนคลับขนานแท้
ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับคะแนนนิยมของแคนดิเดตนายกฯ ตามที่นิด้าโพลสำรวจเช่นกัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีคะแนนนิยมตกตามลำดับ ตั้งแต่ร้อยละ 28.79 เมื่อเดือนมี.ค. เหลือเพียงร้อยละ 17.54 ในเดือนก.ย. แต่ก็ยังนำเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับแดนดิเดตที่เปิดตัวแล้วทุกคน
เป็นรองเพียง "คนที่คุณยังไม่รู้ว่าใคร" เท่านั้น ซึ่งเมื่อยังไม่มีบุคคลคนนี้ ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมอันดับ 1 และถือว่าเป็น "ต้นทุน" ที่มีอยู่ และท้าทายทั้ง "พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร" และพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะกล้าทิ้งกันจริงหรือไม่
ที่มา nationtv
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews