"โอไมครอน"กับข้อมูลล่าสุด จากหมอธีระ มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง
โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ที่ตอนนี้ได้ระบาดแล้วในหลายประเทศ โดย "หมอธีระ" ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว
โดย "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
...Omicron (โอไมครอน)
ตอนนี้มีรายงานจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 23 ประเทศ ครอบคลุมทุกทวีป ทั้งแอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และเอเชีย
ลำพังดูข้อมูลของแอฟริกาใต้ก็คงเห็นว่าการระบาดนั้นเพิ่มขึ้นเร็วมากในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 404% จากสัปดาห์ก่อนหน้า
ล่าสุดมีรายงานจาก BNONews ว่าเคสโอไมครอนในเยอรมันล่าสุดไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งอาจบ่งถึงการติดเชื้อภายในชุมชน หรือ community transmission แต่ยังต้องรอการยืนยันอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก TimeofIsrael ว่า อิสราเอลพบแพทย์ 2 คนติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน โดยรายหนึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมที่ลอนดอน โดยทั้งคู่ได้รับวัคซีนครบไปแล้วสามโดส ทำให้ตอนนี้อิสราเอลมีเคสที่ยืนยันแล้ว 4 ราย ในขณะที่รอการยืนยันอีก 34 ราย
ทั่วโลกนั้นมีความตื่นตัวในการปรับนโยบายและมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโอไมครอน เพราะขณะนี้เป็นการซื้อเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้มีการศึกษาวิจัยให้มีความรู้ที่จะตอบให้ได้ว่าสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะการแพร่ การติด การป่วย การตาย หรือดื้อต่อภูมิคุ้มกันต่างจากสายพันธุ์เดิมๆ หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของลักษณะไวรัสที่เห็นในปัจจุบัน บ่งถึงความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นภาวะคุกคามระดับโลก
ดังนั้น การบริหารจัดการนโยบายและมาตรการระดับชาติจึงต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง จึงจะนำไปสู่สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม
สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ การประเมินด้วยข้อมูลที่จำกัดแล้วมองว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่รุนแรง เอาอยู่
สุดท้ายจะนำไปสู่วังวนเดิมที่เคยเห็นกันมาในอดีต
สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นกิจวัตร
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
1 ธันวาคม 2564
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่อัพเดตเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ใน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 30 พฤศจิกายน 2564
สาระสำคัญยังคงเป็นดังที่ได้ทราบกันวันก่อนคือ มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่ทำให้น่าเป็นห่วง และคาดว่าจะมีโอกาสกระจายไปหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก
ขณะนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพในการแพร่เชื้อติดเชื้อ การป่วย การเสียชีวิต และการดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
ข้อมูลที่มีอยู่นั้นพบว่าน่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) มากกว่าสายพันธุ์อื่น
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังออกคำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างประเทศด้วย โดยแนะนำให้คนที่สุขภาพไม่ดี คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการป่วยรุนแรง เช่น คนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คนที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ ควรพิจารณาเลื่อนการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโอไมครอนไปก่อน