ยืนยันแล้ว ฟอสซิลที่พบในกวางตุ้ง คือ "ไดโนเสาร์ปากเป็ด" อายุกว่า 70 ล้านปี

คณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยัน ฟอสซิลกระดูกพบในกวางตุ้ง เผยโฉม 'ไดโนเสาร์ปากเป็ด' อายุกว่า 70 ล้านปี คาดว่าอพยพมาจากทวีปอเมริกาเหนือ
ปักกิ่ง, 11 ก.พ. คณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าฟอสซิลโครงกระดูกที่ค้นพบในพื้นที่ตอนใต้ของจีนเป็นของไดโนเสาร์ปากเป็ดที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 70 ล้านปีก่อน โดยการยืนยันนี้ขยายขอบเขตบันทึกข้อมูลฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มีฟันมากชนิดนี้ที่คาดว่าอพยพมาจากทวีปอเมริกาเหนือ
รายงานระบุว่านักล่าฟอสซิลมือสมัครเล่นชาวจีนได้พบเจอฟอสซิลกระดูกหลายชิ้นบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในย่านไท่ผิงกั่ง เมืองซื่อฮุ่ย มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 และบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ส่วนการยืนยันผลครั้งนี้มาจากการศึกษาของคณะนักบรรพชีวินวิทยาจากจีนและแคนาดา
หลังจากทำความสะอาดและบูรณะ คณะนักวิจัยระบุในปี 2020 ว่าฟอสซิลโครงกระดูกนี้ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนหลังและหาง กระดูกต้นแขน กระดูกเชิงกราน กระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง โดยเชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเน (Lambeosaurini) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของไดโนเสาร์กินพืชตระกูลแฮดโรซอรอยเดีย (Hadrosauroidea) ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส
ผลการศึกษานี้ที่เผยแพร่ผ่านวารสารฮิสทอริคัล ไบโอโลจี (Historical Biology) เมื่อปลายเดือนมกราคมระบุว่าไดโนเสาร์ตระกูลแฮดโรซอรอยเดียมีลักษณะเด่นที่โครงสร้างปากคล้ายปากเป็ด พวกมันมีฟันนับพันซี่เรียงเป็นระเบียบบนขากรรไกร ช่วยให้สามารถบดเคี้ยวอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนั้นไดโนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเนมีโครงสร้างกะโหลกเป็นเอกลักษณ์ โดยมีโพรงจมูกแคบและกลวง ซึ่งน่าจะช่วยให้พวกมันสามารถเปล่งเสียงคล้ายแตรเพื่อใช้สื่อสารกันด้วย
หวังตงฮ่าว นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) ผู้เขียนผลการศึกษาคนแรก กล่าวว่าคณะนักวิจัยพบเดือยกระดูกสันหลังที่ยาวและเล็กในฟอสซิล ซึ่งเป็นลักษณะที่หายากมาก แต่ฟอสซิลที่ค้นพบเป็นชิ้นกระดูกที่แยกจากกันและไม่ได้อยู่ในสภาพดี ทำให้ขาดข้อมูลทางชีวภาพเกี่ยวกับโครงสร้างกะโหลก
คณะนักวิจัยประเมินว่าไดโนเสาร์เหล่านี้ยังไม่โตเต็มที่ มีความยาวราว 8 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไดโนเสาร์แลมบีโอซอริเนที่อพยพจากทวีปอเมริกาเหนือกลับสู่ทวีปเอเชียผ่านช่องแคบแบริง โดยมีกระดูกสันหลังที่สูงและแคบอันเป็นลักษณะร่วมของไดโนเสาร์อเมริกาเหนือ
เมื่อวันจันทร์ (10 ก.พ.) สิงลี่ต๋า นักบรรพชีวินวิทยาผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าฟอสซิลกระดูกนี้ถือเป็นหลักฐานแรกของไดโดนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเนในพื้นที่ตอนใต้ของจีนและเป็นหลักฐานเดียวที่บ่งชี้ความเป็นไปได้ในการอพยพของไดโนเสาร์อเมริกาเหนือมายังภูมิภาคนี้ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
สิงเสริมว่าการศึกษานี้จะช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของภูมิภาคต่างๆ ก่อนเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
(ภาพจากสิงลี่ต๋า นักบรรพชีวินวิทยาประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) : ฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นพบในเมืองซื่อฮุ่ย มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน)
(ภาพจากสิงลี่ต๋า นักบรรพชีวินวิทยาประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) : ภาพจำลองไดโนเสาร์สร้างจากฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นพบในเมืองซื่อฮุ่ย มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน)
Cr.ซินหัวไทย

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 4 กลุ่มอายุ 21-59 ปี โอนเงินช่วงไหน

"เมืองไทยประกันภัย" จ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีอุบัติเหตุรถไฟชนกระบะ จ.ตรัง

"กชเบล" MGT 2025 เล่าชีวิตวัยเด็ก โตมากับความรุนแรงในครอบครัว

เปิดสาเหตุ "บังมัด" ตบหน้า "สันธนะ" กลางร้านดังทองหล่อ
