หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ปล่อยไว้ถึงชีวิต หลายคนเป็นไม่รู้ตัว

“หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ” ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต! หมอเจดเผย หินปูนไม่ได้มีแค่ในฟัน แต่สามารถสะสมในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน
ใครเสี่ยง “หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ” เช็กด่วน! พฤติกรรมเสี่ยงอย่างการกินอาหารไขมันสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง อาจทำให้แคลเซียมสะสมในหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนเกิดภาวะอันตราย
"หมอเจด" นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความล่าสุดระบุว่า
“หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ”
ปล่อยไว้เสี่ยงหัวใจวาย อันตรายถึงตุย!
ถ้าพูดถึง “หินปูน” หลายคนอาจคิดถึงคราบ
ที่เกาะอยู่ตามฟัน แต่รู้ไหมว่าหินปูนสามารถไปสะสมในหลอดเลือดหัวใจได้ด้วยนะครับ
และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มัทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้
เดี๋ยวเล่าให้ฟังนะครับ ว่าหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Calcification, CAC) ว่ามันคืออะไร อันตรายแค่ไหน และเราจะป้องกันได้อย่างไร
1. หินปูนเกาะหลอดเลือดคืออะไร?
ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ก็คือการที่มี แคลเซียม ไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจของเรา โดยเฉพาะตรงที่มี ไขมันและคราบพลัค (plaque) อยู่แล้ว
ซึ่งคราบพลัคพวกนี้ก็มักจะเกิดจาก ไขมัน LDL (ไขมันไม่ดี), การอักเสบ และสารอื่น ๆ ที่ไปสะสมกัน
พอแคลเซียมเข้ามาเกาะ คราบพลัคก็จะ แข็งตัวขึ้น และทำให้หลอดเลือดแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ทีนี้ก็เสี่ยงที่จะเกิด หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือร้ายแรงสุดก็คือ หัวใจวายเฉียบพลัน ได้
2. มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ใครเสี่ยงบ้าง?
จริง ๆ แล้ว หินปูนเกาะหลอดเลือด ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนแก่เท่านั้นนะ แต่เริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 30-40 ปีขึ้นไปเลย โดยเฉพาะคนที่มี พฤติกรรมเสี่ยง เหล่านี้
- กินอาหารไขมันสูง ของทอด ของมัน ของหวาน น้ำตาลสูง พวกนี้ทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือดได้เร็วขึ้น
- สูบบุหรี่ นิโคตินและสารพิษในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดอักเสบ เสี่ยงเกิดคราบพลัคง่ายขึ้น
- ความดันโลหิตสูง ความดันที่สูงตลอดเวลาทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายและเกิดคราบหินปูนได้เร็ว
- เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันนานๆ ทำให้หลอดเลือดแข็งและอักเสบ
- พันธุกรรม ถ้าที่บ้านมีประวัติโรคหัวใจหรือหลอดเลือด แสดงว่าคุณก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
- ขาดการออกกำลังกาย – การไม่ค่อยขยับตัวทำให้ไขมันไม่ถูกเผาผลาญสะสมในร่างกายง่ายขึ้น
กินแคลเซียมไม่ถูกวิธี
ถ้าร่างกายได้รับ แคลเซียมมากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารเสริมแคลเซียม โดยไม่มีวิตามิน K2 หรือแมกนีเซียมช่วยควบคุม แคลเซียมอาจไปสะสมที่หลอดเลือดแทนที่จะไปเสริมกระดูก
ถ้ามีหลายข้อในนี้ ต้องเริ่มดูแลตัวเองแล้วนะ
3. อาการเป็นยังไง? เช็กตัวเองด่วน!
หลายคนเข้าใจว่า ถ้าหลอดเลือดหัวใจเริ่มมีหินปูนเกาะ จะต้องรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายทันที แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นภัยเงียบ เพราะอาจไม่มีอาการอะไรเลย จนกว่าหลอดเลือดจะตีบมาก ๆ หรืออุดตันไปแล้ว
แต่ถ้าเริ่มมีอาการพวกนี้ รีบไปหาหมอด่วนเลยนะ
- เจ็บหน้าอกแน่น ๆ โดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย หรือเครียดจัด
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ ทำอะไรนิดหน่อยก็หอบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน
- เวียนหัว หน้ามืด เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสัญญาณว่าหัวใจกำลังทำงานหนักกว่าปกติ
- มือ เท้า หรือใบหน้าชา ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีปัญหาด้วย อาจเกิดอาการแบบนี้ได้
บางคนกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารอให้มีอาการ รีบเช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า
4. ตรวจยังไง รู้ได้มั้ยว่ามีหินปูนเกาะหลอดเลือด?
ปัจจุบันมีวิธีตรวจที่สามารถเช็กได้ว่า เรามีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจแล้วหรือยัง ซึ่งหมอส่วนใหญ่หมอจะแนะนำให้ทำในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง
- CT Calcium Score (เอกซเรย์คำนวณแคลเซียมในหลอดเลือด) ตรวจโดยใช้เครื่อง CT Scan ดูว่ามีแคลเซียมสะสมในหลอดเลือดหัวใจเยอะแค่ไหน ยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยงสูง
- Echocardiogram (คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ) เช็กดูว่าหัวใจสูบฉีดเลือดปกติไหม
- ตรวจเลือด (เช็กไขมันและน้ำตาลในเลือด) ถ้าไขมัน LDL สูง หรือมีเบาหวาน ก็มีโอกาสเสี่ยงสูง
ถ้าผลออกมาว่ามีแคลเซียมสะสมเยอะ หมออาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมหรือให้ยาลดไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงหัวใจวายในอนาคต
5. ป้องกันได้ไหม? ต้องดูแลตัวเองยังไง?
เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ แค่ต้องปรับไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรกับหัวใจมากขึ้น
- กินอาหารดี ๆ ลดของทอด ของมัน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แค่เดินเร็ว 30 นาทีต่อวันก็ช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว
- เลิกบุหรี่ ถ้ายังสูบอยู่ หยุดตอนนี้เลยดีกว่า
- ลดเครียด นอนให้พอ ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งสารที่ทำให้ หลอดเลือดอักเสบและแข็งตัว
- กินยาตามแพทย์สั่ง (ถ้าจำเป็น) ถ้ามีไขมันสูง หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
- ทานวิตามิน K2 และแมกนีเซีมควบคู่ไปด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงได้
ฝากนะครับ หลายคนมีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ทันสังเกต เพราะมันเไม่ได้มีอาการชัดเจน แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำใหัเกิด โรคหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลัน ได้
ทางที่ดีที่สุดคือ เช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่ตอนนี้
ปรับพฤติกรรม และป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป ดูแลตัวเองกันด้วยนครับ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ

"กัน จอมพลัง" เปิดภาพโชว์คนแหวกเต็นท์ศูนย์พักพิง ไปถ่ายรูปนายกฯ

สลด ลูกชายปลิดชีพยกครัว พ่อ แม่ น้อง ทิ้งร่างไว้กลางบ้าน 2 วัน

"ฝันดี-ฝันเด่น" ค้นหาเหยื่อซากอาคาร สตง.ถล่ม เจอภาพสุดสะเทือนใจ

"คุณกุ๊กไก่" ถูกรางวัลที่ 1 รับทรัพย์เต็มๆ 12 ล. พร้อมเผยที่มา
