ฝีมือคนไทยดังทั่วโลก จากการพัฒนาพันธุ์ข้าว สู่ศิลปะบนท้องนา
"ในน้ำมีปลา ในนามีเเมว" ไอเดียสุดเจ๋ง! ฝีมือคนไทย จากการพัฒนาพันธุ์ข้าว สู่ศิลปะบนท้องนา เปิดเข้าชม 30 ธันวาคมนี้
กำลังเป็นที่ฮือฮาสำหรับศิลปะบนนาข้าว (Tanbo Art) ที่จัดขึ้นบริเวณบ้านขอนซุง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กับแนวคิด “ในน้ำมีปลา ในนามีแมว” ผลงานการสร้างสรรคที่ผสมผสานระหว่างเรื่องเกษตรกรรม ศิลปะ และเทคโนโลยี กันได้แบบลงตัวสุดๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะระดับโลกฝีมือคนไทยโชว์ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็ม โดยผลงานนี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 นี้
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ระบุข้อมูลว่า นักปราชญ์ อุทธโยธา เปิดเผยว่า การออกแบบศิลปะบนนาข้าว มีที่มาจากการเข้าร่วมงานวิจัยพันธุ์ข้าวสรรพสี ของคุณธันยพงศ์ ใจคำ เจ้าของ"เกี้ยวตะวัน ธัญฟาร์ม" ในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ทั้งหมด 7 สายพันธุ์มีสายพันธุ์ดั้งเดิม 2 สายพันธุ์และอีก 5 สายพันธุ์ที่ได้จากการวิจัยขึ้นมาใหม่โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว(NRCT)ได้คัดเลือกให้กับกลุ่มเกษตรกร และองค์กรทั่วไปที่ให้ความสนร่วมสมัครโครงการ ศิลปะบนนาข้าวด้วยข้าวสรรพสี ปีที่ 1 โดยผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวดและมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือก 14 แห่งและได้มีการเพิ่มเติมในภายหลังอีก 2 แห่งจากทั่วประเทศเพื่อทำการทดลองปลูกและประกวดในกลุ่ม
โดย 5 อันดับแรกจะได้รับ MOU เพื่อทำวิจัยร่วมกับทาง มหาวิทยาลัย ฯต่อเนื่อง ซึ่งคุณธันยพงศ์ ใจคำ หรือดิว มองว่าเป็นผลดีกับเกษตรกรในพื้นที่และของจังหวัดเชียงรายที่จะได้เข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก หลังจากได้รับคัดเลือก จึงได้นำเดียการออกแบบงานศิลปะบนนาข้าวร่วมหารือกับทางสมาคมขัวศิลปะ และศิลปิน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานประติมากรรมหุ่นไล่กายักษ์ในทุ่งนาอยู่แล้ว จึงได้นำเสนอคอนเซ็ปต์ในน้ำมีปลาในนามีแมว โดยได้แรงบันดาลใจจากเจ้า “คูเปอร์” ซึ่งเป็นสายพันธ์เปอร์เซียผสมแมวบ้านที่คอยอยู่ใกล้ๆ เสมอในช่วงที่เราทำงานศิลปะ เป็นแบบในการสร้างผลงาน
กระบวนการสร้างผลงานศิลป์ในแปลงข้าว
ศิลปินผู้ออกแบบและเจ้าของฟาร์ม โดยอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยระบุพิกัดบนจีพีเอส เพื่อกำหนดพื้นที่ในการปลูกข้าวตามแบบที่สเก็ตช์ไว้ แบ่งเป็น 3 แปลง โดยแปลงแรก เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ แปลงที่ 2 ขนาด 2 งานและแปลงที่ 3 ขนาด 1 งาน โดยใช้เชือกกั้นตามสีและสายพันธุ์ของต้นข้าว เริ่มลงมือปลูกตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 โดยคำนวนเวลาที่ต้นกล้าจะงอกงามตลอดช่วงเวลาของการจัดงานมหกรรม Thailand biennale,Chaing Rai 2023 พอดี ซึ่งต้นข้าวในแต่ละโซนของสายพันธ์ที่ปลูกในนาก็จะงอกงามให้สีสันที่แตกต่างกันไปในช่วงเวลาแห่งการเจริญเติบโตจนกลายเป็นผลงานศิลปะที่สวยงามอย่างที่เห็น
แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน
นายธันยพงศ์ ใจคำ หรือดิว เล่าว่า ตนเองเกิดและเติบโต ในครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านขอนซุง ต.งิ้ว อ.เทิง ทำไร่ทำนา มีความผูกพันกับท้องไร่ท้องนามาตั้งแต่วัยเด็ก จึงมีความสนใจเรื่องการปลูกข้าวเป็นพิเศษที่ผ่านได้มีโอกาสศึกษาผลงานศิลปะบนนาข้าวในประเทศญี่ปุ่น พบว่า เขาสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลายของเฉดสี และสามารถพัฒนาให้เป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวประจำปี โดยมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปเที่ยวนับแสนคนในแต่ละปี จึงกลายเป็นไอเดียของศิลปะในนาข้าว ซึ่งผมได้เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว กับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้าสรรพสี สายพันธุ์ RB01, RB02, RB03, RB04 และ RB05 ที่มีเฉดสีแตกต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 3 ของพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงรายความสำเร็จของงานศิลปะในนาข้าวครั้งนี้ จึงนับเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกคนอย่างแท้จริง เริ่มจากคนในครอบครัวของเจ้าของโครงการและทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ถูกทาบทามให้ช่วยสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมถึงหน่วยงานและคนในชุมชน ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ศิลปินที่สนับสนุนแนวคิดและการออกแบบที่ตรงกับคอนเซ็ปต์ของผู้จัดได้อย่างลงตัวครับ
โครงการศิลปะบนนาข้าว แบ่งเป็น 3 โซนตามภาพแมวประกอบด้วย ภาพแมวตาโต ภาพแมวนอนหลับ และไฮไลต์คือ ภาพแมวนอนกอดปลา ภายใต้แนวคิด “ในน้ำมีปลา ในนามีแมว” ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงประมาณวันที่ 15 มีนาคม 2567
ภาพและข้อมูล : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย,Shinshiro Kenji Arthur