ไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่น เตือนกทม. วันที่ 5-12 ม.ค. นี้รับมือ PM2.5
กรมควบคุมมลพิษประกาศประเทศไทยเข้าสู่ “ฤดูฝุ่น” รับมือ 5-12 ม.ค.หนัก เผย PM2.5 กทม.-ภาคกลางรุนแรงสุดเดือน ก.พ. จากนั้นไปต่อที่ภาคเหนือ
ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผช.รมต.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงข่าวประเทศไทยเข้าฤดูฝุ่น
ร.อ.รชฏกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมืองที่เป็นการควบคุมที่ต้นตอของฝุ่น ขณะนี้ได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็น กลไกการบริหารจัดการด้วยการจัดตั้งศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น และแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ซึ่งเป้าต้นตอหรือแหล่งกำเนิดฝุ่นของพื้นที่ เช่น การเผาในพื้นที่ป่า นาข้าว อ้อย ข้าวโพด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานที่กำกับดูแลแหล่งกำเนิด เพื่อการระงับ ยับยั้งต้นตอ แหล่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น
น.ส.ปรีญาพรกล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ เนื่องจากนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สถานการณ์ฝุ่นในไทยจะเริ่มมีความรุนแรงขึ้น ที่ประกาศว่าเป็นฤดูฝุ่นเพื่อให้เรารู้ว่าถึงเวลาต้องเตรียมตั้งรับและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เข้มข้นทุกมาตรการ
สถานการณ์ฝุ่นโดยทั่วไปในภาคกลาง เริ่มมีมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2566-มี.ค.2567 พีกสุดในเดือน ก.พ.2567 จากนั้นจะรุนแรงที่ภาคเหนือ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีอัตราการระบายอากาศต่ำมาก ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5-12 ม.ค.2567 แหล่งกำเนิดหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การจราจรในพื้นที่ แหล่งกำเนิดจากนอกพื้นที่ ได้แก่ ฝุ่นจากการเผาในที่โล่งในจังหวัดปริมณฑลและโดยรอบ ดังนั้น ถ้าไม่ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นในเมือง จะทำให้ฝุ่นเยอะขึ้นและ สะสมเป็นแอ่งในกรุงเทพฯ ถ้ามีลมประกอบจะพัดพาฝุ่นไปทางทิศตะวันตกด้วย ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันตกเริ่มปรากฏสีแดง เนื่องจากพบจุดความร้อนจากการเผา ทิศทางลมลงมาทางปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ
กระทรวงฯ จึงมีมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่โล่ง จากข้อมูลพบว่า ช่วงก่อนปีใหม่มีจุดความร้อน (Hot Spot) 200 จุด แต่หลังปีใหม่เพิ่มเป็น 1,200 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่นาข้าวถึง 38% พื้นที่เกษตร เช่น ไร่อ้อย 13% ไร่ข้าวโพด 6% อย่างไรก็ดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศงดการเผาและควบคุมการเผา รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกวันว่า ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดมี Hot Spot ปริมาณมากน้อยเท่าไร ควรจะควบคุมอย่างไรบ้าง