กบง. ขอ ปตท. ตรึง NGV รถแท็กซี่ ถึง 15 มี.ค. 2566 รวมเงินช่วยเหลือกว่า 2.4 พันล้าน
กบง. ขอ ปตท.ตรึงราคาก๊าซ NGV รถแท็กซี่ 13.62 บาทต่อกก. ถึง 15 มี.ค. 2566 รวมเงินช่วยเหลือกว่า 2.4 พันล้าน ส่วนรถยนต์ทั่วไปปรับขึ้น 1 บาทต่อกก. มีผล 16 ธ.ค. 2565 ส่วนก๊าซหุงต้ม LPG ใช้กันในครัวเรือนตรึงต่อที่ราคา 408 บาทต่อถัง 15 กก. มีผล 1 – 31 ม.ค. 2566
กบง. ขอ ปตท. ตรึง NGV รถแท็กซี่ ถึง 15 มี.ค. 2566 รวมเงินช่วยเหลือกว่า 2.4 พันล้าน ส่วนก๊าซหุงต้ม LPG ใช้กันในครัวเรือนตรึงต่อที่ราคา 408 บาทต่อถัง 15 กก. มีผล 1 – 31 ม.ค. 2566
เริ่มกันที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง. พิจารณาแนวทางการทบทวนการกำหนดราคา LPG เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในปัจจุบันยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 29 พ.ย. 2565 อยู่ที่ 633.60 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 480 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 1,352 ล้านบาทต่อเดือน และฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 43,883 ล้านบาท เข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ม.ค. 2566
“การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนแต่จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระเพิ่มขึ้น ซึ่ง กบง. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG”
ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาท ต่อลิตร ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอ กบน. ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วแต่ละชนิดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพ ของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม กบง. ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV ดังนี้ รถยนต์ทั่วไปให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2565 จาก 16.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.59 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565 เป็นต้นไป รถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565 - 15 มี.ค. 2566 ซึ่งการช่วยเหลือตามแนวทางนี้ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือของ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2566 ประมาณ 2,682 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 2,407 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 275 ล้านบาท)
ต่อด้วย นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนต.ค. - ธ.ค. 2565 และผลประเมินผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) จากการดำเนินมาตรการเพื่อลดการนำเข้า Spot LNG ราคาสูงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 อาทิ เช่น มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม จัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาค ปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
โดยที่ประชุม กบง. ให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน สามารถปรับรายละเอียดมาตรการและประมาณการเป้าหมาย หรืออาจเพิ่มเติมมาตรการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดในการดำเนินการ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละมาตรการดำเนินการตามมาตรการให้บรรลุเป้าหมายในการลดการนำเข้า LNG Spot ราคาสูง
นอกจากนี้ ยังมีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะปริมาณที่จำหน่ายเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมอบหมายให้ ธพ. ออกประกาศ ธพ. ว่าด้วยกำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง และแจ้งมติดังกล่าวต่อผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ให้ยื่นขอความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าตามขั้นตอนต่อไป อีกทั้งยังมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ติดตามแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนม.ค – เม.ย 2566 และรายงานต่อ กบง. ต่อไป