อัปเดตล่าสุด! ข้าราชการ C7 ปัดโกงเงินหลวง 51 ล้าน พร้อมได้ประกันตัวยกก๊วน!
สืบเนื่องกรณี ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ ป.ป.ช.บุกจับข้าราชการ C7 คากรมวิทย์ฯหลังสืบทราบโกงเงินหลวงกว่า 51 ล้าน ล่าสุดได้ประกันตัวแล้ว ใช้เงินสดคนละ 4.5 แสนบาท ประกันตัวพร้อมลูกสาวและลูกเขย
อัปเดตล่าสุด กรณีตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ ป.ป.ช. ,ป.ป.ท. และ ป.ป.ง. ได้บุกจับกุมข้าราชการซี7 "นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายบริหารทั่วไปและพนักงานธุรการชำนาญงาน ฝ่ายบริหารทั่วไป" พร้อมลูกสาวและลูกเขย กรณีสืบทราบพบ มีการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดยยักยอกเงินหลวงมานานกว่า10 ปี รวมความเสียหายมากกว่า 51 ล้านบาท โดยผู้ต้องทั้ง3 รายประกอบไปด้วย
- นางจรรยา อายุ 54 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1ที่ 29/66 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2566
- นางรัตนาภรณ์ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1ที่ 30/66 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2566
- นายอานนท์ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 31/66 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2566
ล่าสุดวันที่ 8 ธ.ค.66 (วันนี้) ข้าราชการซี7 พร้อมลูกสาวและลูกเขย รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 3รายที่ถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้ ได้ใช้หลักทรัพย์เงินสดคนละ 4.5 แสนบาทยื่นขอประกันตัว ซึ่งพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัว
โดยทาง พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายได้ให้การปฏิเสธการยักยอก-ทุจริตเงินหลวง และ ขอประกันตัวไปเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา
พฤติการณ์
กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย นายโยธิน ภัทรวัฒนาภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจ ได้มาร้องทุกข์ กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีกับนางรัตราภรณ์ อายุ 32 ปี กับพวก ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดที่เกี่ยวข้อง กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 เวลาประมาณ 09.20 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้ร่วมกับ ป.ป.ช. ,ป.ป.ท. และ ป.ป.ง. นำกำลังเข้าจับกุมตัว นางจรรยา นักวิชาการพัสดุฯ ,นางรัตนาภรณ์ เจ้าหน้าที่งานธุรการชำนาญงานฯ และ นายอานนท์ฯ กรรมการบริษัทแห่งหนึ่ง จึงได้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทั้งสามทราบ พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ นอกจากนี้ยังได้ตรวจค้นพบ
- เงินสดจำนวนกว่า 4 ล้านบาท
- อาวุธปืนออโตเมติกและลูกโม่ จำนวน 6 กระบอก
- เครื่องกระสุนปืนจำนวน 40นัด
- โฉนดที่ดิน จำนวน 6 ฉบับ
- รถยนต์จำนวน 4 คัน
- รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์(DUCATI กับ HARLEY) จำนวน 2
- นาฬิกา ROLEX จำนวน 6 เรือน
- กระเป๋าแบรนด์เนมจำนวน 6 ใบ
ทาง บก.ป ป ป. ได้ทำการตรวจสอบย้อนหลังเพิ่มเติม พบว่า มีการกระทำความผิดตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน รวมความเสียหายทั้งสิ้น 51,360,886.41 บาท สอบถามปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งสอง ยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไปที่ บก.ปปป.
โดยทาง นายภูมิศาล เกษมสุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผย ว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเทห์ ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า
“ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่อ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย”
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก็พบ พฤติกรรมของ นางรัตนาภรณ์ ว่า มีการกระทำที่เป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง โดยนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จากนั้นก็เสนอรายการ ต่อนางจรรยา ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ของนางรัตนาภรณ์ ทั้งนี้นางจรรยามีอำนาจในการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนาม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสั่งซื้อจากบริษัท เอ็นวาย พลัส จำกัด ซึ่ง มีนายอานนท์เป็นเจ้าของบริษัท และยังมีสถานะเป็นสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นลูกเขยของนางจรรยา
เบื้องต้น การตรวจสอบรายการจัดซื้อ จัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงช่วงเดือนสิงหาคมปี 2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำๆ ข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของนางจรรยา กับ กรรมการตรวจรับไม่สอดคล้องกัน ซึ่งในการตรวจสอบเชิงพบว่า เป็นการปลอมรายมือชื่อ ผอ.และ กรรมการตรวจรีบอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง
ทางด้าน ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ระบุอีกว่า กรณีนี้มีช่องว่างทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้นางจรรยา พบช่องทางในการทุจริตคือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาทและเลือกซื้อรายการ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็กๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กสิ้นเปลืองและมีราคาสูง