วัคซีนโควิด 7 ยี่ห้อในไทย เจาะลึกถึงฉีดแล้วมีประสิทธิภาพ - ผลข้างเคียง
เปิดข้อมูล 7 วัคซีนโควิดในไทยที่ประชาชนในประเทศไทยสามารถเลือกฉีดได้ในอนาคตอันใกล้ เช็คได้เลยมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสได้มากน้อยแค่ไหน แต่ละตัวมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งทางรอดเดียวในตอนนี้เป็นวัคซีนโควิด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ขณะนี้มี วัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 3 ตัว คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมถึงอีก 4 ตัว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ซึ่งสามารถสรุปข้อมูลได้ดังต่อนี้
โดยวัคซีนโควิดที่ผ่าน อย. ไทยเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
1. แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) จาก สหราชอาณาจักร
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 76% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส ต่อหนึ่งคน และฉีดห่างกัน 8 - 12 สัปดาห์ เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้จากการผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า คืออาจจะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ บางกรณีมีการปวดและระคายเคืองบริเวณที่ฉีด
2. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จาก สหรัฐอเมริกา
วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นวัคซีนที่นำเข้าโดย บริษัทแจนเซ่น-ซีแลก จำกัด มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 66% สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 85% และต้องฉีดจำนวน 1 โดส เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีผลข้างเคียงคือ ปวด บวม แดง ระคายเคือง บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้
3. ซิโนแวค (Sinovac) จาก จีน
วัคซีนซิโนแวค เป็นวัสซีนโควิดที่นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50.38% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส ต่อหนึ่งคน ห่างกัน 28 วัน เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนซิโนแวคมีผลข้างเคียงคือ มีไข้เล็กน้อย ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการที่จะคงอยู่ชั่วคราว
ด้านวัคซีนโควิดยังไม่ผ่าน อย. ไทย แต่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีดังต่อไปนี้
1. โมเดอร์นา (Moderna) จาก สหรัฐอเมริกา
วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนนำเข้าโดย บริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ส่วนประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนโมเดอร์นาอยู่ที่ 94.1% ซึ่งสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส ห่างกัน 28 วัน เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนโมเดอร์นามีผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ไข้ โดยเป็นผลข้างเคียงทั่วไป กินเวลาประมาณ 2-3 วัน
2. ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) จาก อินเดีย
วัคซีนภารัต ไบโอเทค เป็นวัคซีนที่นำเข้าโดย บริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อ อย. ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 80.6% สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ 100% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส ห่างกัน 28 วัน เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนภารัต ไบโอเทค มีผลข้างเคียงคือ ปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่น
3. สปุตนิก วี (Sputnik V) จาก รัสเซีย
วัคซีนสปุตนิก วี เป็นวัคซีนที่นำเข้าโดย บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่องกับทาง อย. มีประสิทธิภาพถึง 91.6% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส เหมาะกับบุคคลที่มีช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนสปุตนิก วี ผลข้างเคียงคือ มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไป
นอกจากนี้ทาง CNBC ยังได้รายงานอีกว่า ขณะนี้ทางรัสเซียเพิ่งอนุมัติใช้วัคซีนตัวใหม่ คือ สปุตนิก ไลท์ (Sputnik Light) ซึ่งฉีดแค่ 1 โดส มีประสิทธิภาพ 79.4% โดยจะมีการส่งออกวัคซีนสปุตนิก ไลท์ แก่ประเทศพันธมิตร
4. ไฟเซอร์ (Pfizer) จาก สหรัฐอเมริกา
โดยวัคซีน BNT162b2 ของไฟเซอร์ อยู่ระหว่างเตรียมเอกสาร เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. หลังการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลไทยสำเร็จ ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์โดยรวมอยู่ที่ 95% สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100% และต้องฉีดจำนวน 2 โดส ห่างกัน 21 วัน เหมาะกับบุคคลช่วงอายุ 16 ปีขึ้นไป (อย. สหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติการฉีดในช่วงอายุ 12 - 15 ปี)
วัคซีนไฟเซอร์มีผลข้างเคียงคือ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไข้ขึ้น หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ คลื่นไส้ ท้องร่วง ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไปจากการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในเวลาไม่เกิน 2-3 วัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบจำนวนโดสแล้ว แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ยืนยันว่ายังเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก biospace.com, Medical News Today,Medical News Today,Medical News Today,Medical News Today, CNBC, Medical News Today, Medical News Today, Bharat Biotech, covidvaccine.gov.hk